แนวคิดและความรู้เพื่อแก้ปัญหา #ข้าววัชพืช #ข้าวดีด #ข้าวเด้ง
บทความโดย นายพิสิฐ พรหมนารถ
ข้าววัชพืชคืออะไร
ข้าววัชพืชเป็นคำรวมที่อาจารย์ดร.จรรยา มณีโชติ ท่านบัญญัติชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อเรียกกลุ่มของวัชพืชที่เหมือนกับข้าวที่เราปลูกทุกอย่าง ยกเว้น เมื่อออกรวงจะมีความแปลกที่แตกต่างในแบบที่ชาวนาไม่ต้องการ เช่น
- สุกแก่ไม่พร้อมกัน
- เมล็ดเริ่มร่วงจากรวงตั้งแต่ 15 วันจนสุก สุดท้ายก็ร่วงจากรวงลงพื้น กลายเป็น #ข้าวดีด #ข้าวเด้ง ครับ
- ออกรวงมาก็ชัดเลยหางยาวเฟื้อย หางยาวตั้งแต่ครึ่งเซนติเมตรจนถึงยาวเกือบสิบเซนติเมตรก็มี พวกนี้เรียก”ข้าวหาง” หรือข้าวนก ข้าวละมาล
- เมล็ดสั้นป้อม หรือถ้ายาวก็มีสีเปลือกเข้มหรือลาย พวกนี้เรียก”ข้าวแดง” หรือข้าวลายครับ
ข้าววัชพืชมันมาอย่างไง
เกิดจากการผสมระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่าตามธรรมชาติ ข้าวปลูกคือข้าวที่เราต้องการ กับ ข้าวป่า คือข้าวที่ไม่ได้มีการคัดสรรค์พันธุ์เฉพาะ เห็นทั่วไปตามที่ลุ่มริมหนองริมคลอง มีหลากหลายลักษณะ ส่วนใหญ่เมล็ดสั้น หางยาวกว่าเมล็ดหลายเท่า ในรวงเดียวกันสุกแก่ไม่พร้อมกัน แก่แล้วก็ร่วงเลยแต่บางเมล็ดในรวงยังอ่อนอยู่ก็มี บางพันธุ์ต้นสูงยาวมาก บางพันธุ์ก็เตี้ยเท่าข้าวปลูกครับ
ปกติข้าวผสมตัวเองในดอกเดียวกัน แต่ก็มีความบังเอิญผสมข้ามพันธุ์ ลูกหลานเค้าที่เกิดหลังจากนั้นเลยมีหลากหลายลักษณะตามที่กล่าวมาแล้ว
มาอยู่ในนาเราได้ยังไง
- เมล็ดข้าววัชพืชปนติดมากับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้
- มาตรฐานเครื่องจักรกลที่สำคัญคือรถเกี่ยวนวดซึ่งมีซอกหลืบมากมาย เกี่ยวเสร็จจากนานี้แล้วลงต่อนาเพื่อนที่พร้อมเกี่ยว เพื่อนยังไม่มีก็เอาไปฝากได้เลยครับ
เยอะด้วยเพราะเมล็ดที่ติดในรถเกี่ยวพร้อมที่จะไปพ่นใส่นาเพื่อนเราอย่างน้อยๆก็สามถัง ใกล้เคียงล้านเมล็ด ถ้าข้าวที่ตกในซอกหลืบรถเกี่ยวมีข้าววัชพืชปนอยู่แค่ 0.1% ก็พันกว่าเมล็ดแล้วครับ
กรมการข้าว รายงานว่า เกิดปัญหาครั้งแรกที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นข้าวหางครับ ราวๆปี 2544 เมล็ดแรกก็คงเกิดก่อนนั้น เพราะปีนั้นก็เต็มนาแล้ว อาจารย์จรรยาเคยประเมินไว้ครับว่า ถ้ามีตกหล่นปะปนในนาเราเพียง 1 เมล็ดแล้วงอกเจริญเติบโตได้ แล้วเจ้าของนาไม่กำจัด มันจะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นจนเต็มนาได้ภายในเพียง 8 ฤดูการทำนาครับ
การป้องกัน
- เลือกพันธุ์ข้าวที่จะเอามาปลูกมาใช้ในนาเราให้ดีไม่มีของแถมครับ ตรงนี้ต้องพิถีพิถันนะครับ เข้ามาแล้วแก้ยากและยาวนานครับ
- เครื่องจักรกลที่จะนำพาเมล็ดข้าววัชพืชได้ก็รถเกี่ยวนวดไงครับ ติดมาแค่สามถังในนั้นก็มีข้าววัชพืชหลายพันเมล็ดแล้วครับ ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจว่ารถเกี่ยวไปเกี่ยวแปลงที่มีข้าววัชพืชปนมากน้อยแค่ไหนก็ต้องล้างรถเกี่ยวไกลๆเลยนะครับ แล้วค่อยให้ลงเกี่ยวของเรา ไม่งั้นตามแก้อีกยาว
การป้องกันกึ่งกำจัด คือ การเว้นช่วงการทำนา
การทำนาต่อเนื่องเอื้อให้เกิดปัญหาข้าววัชพืชเพราะเมล็ดข้าวที่ตกหล่นจากฤดูที่แล้ว หรือที่ติดมากับรถเกี่ยวจะไม่มีโอกาสงอก สร้างปัญหาให้เราได้ หากเว้นช่วงนานพอที่จะให้นกหนูปูหอยรวมทั้งเป็ดนะครับ ให้ได้มีเวลานานพอที่จะมาเก็บกินเมล็ดที่ตกหล่นจนหมดหรือเหลือน้อยที่สุด
การกำจัดข้าววัชพืช ช้าวดีด ข้าวเด้ง ในนา
การกำจัดที่ดีที่สุด คือ ล่อให้งอกแล้วไถกลบทิ้ง แต่เนื่องจากเมล็ดข้าววัชพืชมีการพักตัวหลากหลาย คืองอกไม่พร้อมกัน ดังนั้นถ้ามีการเว้นช่วงรอบต่อไปอยู่แล้ว 3-4 เดือนก็เข้าทางครับ พวกที่พักตัวอยู่ก็จะทยอยพ้นการพักตัวมารอให้เราล่อให้งอกซึ่งวัชพืชชนิดต่างๆรวมทั้งข้าวพันธุ์เดิมจากฤดูที่แล้วก็จะงอกขึ้นมาให้เราไถกลบ บรรเทาเบาบางลงได้ทุกชนิดครับ บางท่านอาจบอกว่าไถแล้วล่อดีกว่า เอาที่สะดวกนะครับ
ขั้นตอนการล่อให้งอกเพื่อกำจัด
นึกถึงเวลาเราแช่ข้าวให้งอกเราทำอย่างไรครับ
- เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวพร้อมงอก
- นำเมล็ดไปแช่น้ำ
- เอาขึ้นมาหุ้ม
ดังนั้น ถ้าจะล่อข้าววัชพืชและวัชพืชต่างๆให้ขึ้นมากำจัดโดยไถกลบ เราก็ต้อง
- ทิ้งช่วงการทำนาให้ข้าววัชพืชทยอยพ้นการพักตัวก่อน 3-4 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ได้ 3-4 เดือนก็แจ๋วเลยครับ
- ก่อนเริ่มก็เอาน้ำเข้าแช่สัก 1-2 คืนแล้วปล่อยให้น้ำแห้งเอง เมล็ดพืชเป้าหมายของเราก็จะได้แช่และหุ้มและงอกขึ้นมาให้เราไถกลบทำลายได้
หัวใจสำคัญคือ ถ้าแช่ยาวๆโดยไม่ให้น้ำแห้งมันก็ไม่งอก เพราะเมล็ดได้แต่ความชื้นแต่ไม่ได้อากาศที่เพียงพอต่อการงอก แล้วซ้ำร้าย เราไปปล่อยน้ำออกแล้วไถทำต่อเนื่องเลย ก็ขึ้นมาพร้อมข้าวที่เราหว่านหน่ะสิครับทั้งวัชพืชทั่วไปข้าวดีดข้าวหางข้าวเรื้อตกหล่นจากฤดูที่แล้ว ขึ้นมารุมกินโต๊ะข้าวที่เราหว่านสนุกกันไปเลยครับ
กำจัดข้าวดีด ข้าวเด้ง ด้วยวิธีอื่นๆ
การกำจัดอีกอย่างคือการปล่อยน้ำเข้านาก่อนช่วงหมักฟาง แล้วเอาเป็ดไล่ทุ่งมากินก็ได้ผลครับ แต่อย่าให้คนเลี้ยงเป็ดเอาข้าวคุณภาพต่ำมาเป็นอาหารเสริมให้เป็ดนะครับ เพราะข้าวพวกนี้จะแถมข้าววัชพืชใหม่ๆมาให้เราอีก
การเผาฟางก็ช่วยกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชที่ลอยอยู่ผิวดินโดนความร้อนสูงก็ตายได้ แต่ถ้าพวกฝังดินลึกพอดีได้ความร้อนไปทำลายการพักตัวมันจะงอกมากกว่าเดิมนะครับ ดังนั้นถ้าเผาฟางให้ล่อแล้วไถทิ้งก่อนครั้งนึงค่อยตีเทือกครับ
วิธีนึงที่ลดข้าววัชพืชและวัชพืชตระกูลที่ไม่ชอบน้ำไม่งอกใต้น้ำลงได้มากคือ เตรียมเทือกให้เนียนไม่มีลุ่มดอนเกินไป ไม่เทไปทางหนึ่งทางใด หว่านข้าวได้ 1 วันพ่นยาคุมเนียนๆนะครับ แล้วขึ้นน้ำให้เร็วไม่เกิน 7 วันหลังหว่าน ถ้าขึ้นน้ำได้ 5 วันแจ๋วเลยครับ ขึ้นน้ำให้มิดดินนะครับ ดังนั้นถ้าเตรียมแปลงเนียนก็ไม่ต้องใส่น้ำมากข้าวก็โผล่เร็ว ลดได้ทั้งข้าววัชพืชและวัชพืชทั่วไปที่ไม่งอกใต้น้ำ
กำจัดข้าววัชพืชด้วยสารเคมี
ข้าววัชพืชเราไม่สามารถกำจัดด้วยสารกำจัดวัชพืชประเภทคุมหรือฆ่าที่เราใช้ควบคุมวัชพืชในนาข้าวทั่วไปได้ เพราะมันก็เป็นข้าวใช่ไหม๊ครับ แต่ก็มีการพลิกแพลงใช้ได้อยู่ 3-4 วิธี และไม่แนะนำให้ใช้แล้วเพราะอันตราย เช่นตัวที่ได้ผลคืออลาคลอร์เป็นพิษต่อข้าวแรงมาก ใช้พ่นอัตราราว 200 cc/ไร่ โดยพ่นหลังลูบเทือกก่อนหว่านข้าว ขังน้ำสัก 3-5 cm สัก 3-5 วันปล่อยน้ำทิ้ง น้ำกับสารอลาคลอร์จะไปด้วยกัน ปล่อยน้ำให้หมดเลยนะครับ น้ำขังเป็นแอ่งที่ไหนข้าวหว่านไปตายเรียบนะครับ ข้าววัชพืชส่วนใหญ่จึงตาย นาค่อนข้างสะอาดเราก็หว่านข้าวงอกตาม ข้าวเราก็จะป้อแป้เล็กน้อยถึงปานกลาง แล้วจะค่อยๆฟื้นตัวงอกเจริญเติบโต บางท่านอาจทำใจไม่ได้ในระยะแรก ใจลุ่มๆเดี๋ยวมันฟื้นครับ พอข้าวตั้งต้นก็เริ่มขังน้ำไล่ระดับ ถ้าปล่อยแห้งข้าววัชพืชในระแหงไม่ได้ตายด้วยนะครับ ดังนั้นต้องห้ามดินแห้งแตกระแหงต้องขังน้ำก่อน ได้ผลครับ แต่ชาวนาเห็นได้ผลเอาใหญ่ เพิ่มปริมาณสารต่อไร่เข้าไปอีก มันเกิดปัญหาจะยิงกันเอาครับ ใช้สารมากเกินตอนปล่อยน้ำที่จะไล่สารออกไปพร้อมน้ำลงคลองที่น้ำมีน้อยสารไม่เจือจางพรรคพวกสูบเข้านาก็ไปเป็นพิษต่อข้าวสิครับ วิธีนี้เลยเลิกแนะนำไปแล้ว
ผมรวบลัดเอาวิธีสุดท้ายที่กำลังศึกษาจวนออกผลิตภัณฑ์แล้ว วิธีนี้ผมศึกษามาตั้งแต่ปี 2552 เสร็จสิ้นจดอนุสิทธิบัตร เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของกรมการข้าว ปี 2557 ผมเป็นผู้ประดิษฐ์ แต่ตอนนั้นไม่มีบริษัทไหนนำไปศึกษาต่อ
หลักการง่ายๆครับเราจะเอาสารแก้พิษของสารกำจัดวัชพืชที่ฆ่าข้าวได้ ใส่ให้เมล็ดพันธุ์ข้าวงอกของเราก่อนหว่านครับ หว่านแล้วก็พ่นสารที่กำจัดข้าวได้ตามลงไปเลย สารจะฆ่าทั้งข้าววัชพืชที่อยู่ในดินพร้อมงอกและวัชพืชต่างๆที่กำลังจะงอกมาหลอกหลอนเรา ให้ตายไปโดยที่ข้าวงอกที่เราหว่านไม่เป็นไรเพราะเราใส่สารแก้พิษให้ก่อนหว่านแล้วไงครับ
คิดได้ครับแต่ทำไม่ใช่ง่าย ผมศึกษาวิจัย 4 ปี ทดสอบในนาจริงได้ผลน่าพอใจ ตอนนั้นก็เสียดายไม่มีบริษัทไหนทำต่อ แต่ไม่เป็นไรครับ
ตอนนี้มีโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรทำเรื่องนี้เหมือนกันแต่ทำหลังผม ดร.ธณัชสันต์ หัวหน้าโครงการได้เชิญผมเป็นที่ปรึกษาให้ คาดว่าเร็วๆนี้จะออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทโปรเจคฟีลครับ คืบหน้ายังไงผมจะแจ้งให้ทราบครับ